ชื่อวิทยาศาสตร์ Gomphrena globosa Linn.
วงศ์ AMARANTHACEAE
ชื่อสามัญ Bachalor's Button,Button Agaga,Globe Amaranth,Pearly Everlasting
ชื่ออื่นๆ กะล่อม ตะล่อม (ภาคเหนือ) ดอกสามเดือน กุนหยี (ภาคใต้)
บานไม่รู้โรย ความหมายของชื่อดีจังเลยค่ะ
เพราะเป็นดอกไม้ที่สวยทนนาน ไม่เหี่ยวเฉาง่าย
เชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้
บานไม่รู้โรยคงเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล ปี พ.ศ.๒๔๑๖
เขียนไว้ว่า " บานมิรู้โรย ; ดอกไม้อย่างหนึ่ง บานแล้วไม่โรยไม่เหี่ยวเลย
ดอกไม้อย่างอื่นบานแล้ว โรยเหี่ยวแห้งไป "
แสดงว่าคนไทยเมื่อ ๑๓๐ ปีก่อนโน้น รู้จักบานไม่รู้โรยกันเป็นอย่างดีแล้ว
บานไม่รู้โรยเป็นไม้ล้มลุก เนื้ออ่อน พุ่มเตี้ย
ตามลำต้นกิ่งก้านและใบปกคลุมด้วย ขนละเอียดสั้นๆ
ใบออกเป็นคู่ ตรงข้ามสลับเวียนไปตามข้อต้น ขอบใบเรียบ
ปลายใบค่อนข้างแหลม ดอกออกตรงส่วนปลายของกิ่งแขนง
ออก พร้อมกันทีละมากๆ ทรงดอกค่อนข้างกลม
แต่ละดอก ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก
ดอกย่อยแต่ละดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ
เมื่อติดเมล็ดแล้วกลีบดอกยังคงติดอยู่กับก้านดอก
ไม่ร่วงหล่นเหี่ยวเฉาหรือเปลี่ยนสีเหมือนดอกไม้ชนิดอื่น
เป็นลักษณะเด่นของดอกไม้ชนิด นี้จึงได้ชื่อว่าดอกบานไม่รู้โรย
ประโยชน์หลักอย่างหนึ่งของดอกบานไม่รู้โรยที่รู้จักกันดีก็คือ
การนำมาตกแต่งในงานพิธีต่างๆ เพราะ นอกจากงดงามคงทนได้นานแล้ว
ยังถือเป็นดอกไม้มงคลชนิดหนึ่งด้วย เพราะหมายถึงความยั่งยืนนานไม่ร่วงโรย
จึงมักใช้ร้อยเป็นพวงมาลัย หรือร้อยเป็นอุบะประดับในงาน
หรือจัดเป็นพานพุ่มสำหรับบูชาพระ ไหว้ครู หรือประดับ ในงานต่างๆ
เด็กนักเรียนในอดีตจะคุ้นเคยกับการจัดพาน พุ่มจากดอกบานไม่รู้โรยเป็นอย่างดี
เพราะถูกเกณฑ์ให้เก็บดอกบานไม่รู้โรยมาเสียบกับไม้กลัดที่ทำจากไม้ไผ่
แล้วปักลงบนดินเหนียวที่พูนเอาไว้บนพานเป็นรูปทรงที่ต้องการ
สลับสีเป็นลวดลายต่างๆ ตามที่เห็นว่าสวยงาม
พานพุ่มดังกล่าวปัจจุบันปรับเปลี่ยนจากไม้กลัดเป็นเข็มหมุด
จากดินเหนียวเป็นโฟมหรือพลาสติก
แต่ก็ยังคงใช้ดอกบานไม่รู้โรยอยู่อย่างเดิม
ต้นบานไม่รู้โรยนับเป็นพืชที่ปลูกขยายพันธุ์ง่าย
และแข็งแรงทนทาน จึงพบเห็นขึ้นอยู่ทั่วไป
ชอบแสงแดดจัดจึงเหมาะสำหรับปลูกกลางแจ้ง
ต้องการความชื้นบ้าง และทนทานความแห้งแล้งได้ดีพอสมควร
ออกดอกได้ตลอดทั้งปี
การปลูกก็เพียงแต่พรวนดินแล้วโรยเมล็ดลงไปก็พอแล้ว
เมื่อได้ความชื้นจากฝนหรือน้ำที่รดให้ก็จะงอกงามขึ้นมาได้เอง
เหมือนกับที่เพลงสำหรับเด็กเพลงหนึ่งมีเนื้อร้องว่า
"วันนี้เป็นวันจันทร์ฉันจะปลูกทานตะวันไว้รอบๆ บ้าน
พรุ่งนี้วันอังคารบานไม่รู้โรยฉันจะโปรยริมรั้ว..."
ดอกบานไม่รู้โรยในประเทศไทยพบอยู่ ๓ สี
คือ สีขาว สีม่วงแดง และสีชมพู
ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นลูกผสมระหว่างสีขาวกับสีม่วงแดง
ประโยชน์ของบานไม่รู้โรย
แพทย์แผนไทยนำบานไม่รู้โรยมาใช้รักษาโรคได้หลายชนิด
ดังปรากฏในตำราสรรพคุณสมุนไพรดังนี้
*ต้น : รสขื่นเล็กน้อย ขับ ปัสสาวะ แก้หนองใน กามโรค แก้กระษัย ขับระดูขาว แก้กล่อนปัตตะคาด
*บานไม่รู้โรยขาวทั้งห้า : แก้ ไอหรือรากเป็นเลือด เลือดออกจากทวารทั้งเก้า
*ดอกบานไม่รู้โรยขาว : แก้นิ่ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น